วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2556

ความสำคัญของวิกฤติไซปรัส BY KOBSAK


เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ไซปรัสเป็นประเทศที่ 5 ในกลุ่มสกุลเงินยูโร ที่ต้องประกาศขอความช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

ทำไมจึงต้องจับตามองวิกฤติไซปรัส
ถ้าจะว่าไปแล้ว ไซปรัสเป็นเพียงเกาะเล็ก ๆ ในสหภาพยุโรป มีประชากรประมาณ 1 ล้านคนเท่านั้น ขนาดของเศรษฐกิจก็ไม่ได้ใหญ่โตอะไรนัก ยิ่งไปกว่านั้น เงินช่วยเหลือที่พูดกันก็ไม่ได้มาก ประมาณ 1-2 หมื่นล้านยูโร เท่านั้น ซึ่งเทียบกับที่ได้ช่วยกรีซกันไปหลายต่อหลายรอบ ครั้งหนึ่งก็เป็นแสนล้าน นับว่าเป็นเงินที่เล็กน้อยมาก
แต่สิ่งที่สำคัญที่ทำให้ทุกคนจับจ้องรอดูว่าจะเกิดอะไรที่ไซปรัส ก็คือ ทางออกจากวิกฤติที่ทางการยุโรปและไซปรัสช่วยเลือกกัน โดยตัดสินใจว่าจะมีการเก็บภาษีจากเงินเก็บออมของทุกคนที่ฝากไว้ในแบงก์ ในอัตรา 9.9% สำหรับคนที่มีเงินฝากเกิน 1 แสนยูโร และ 6.75% สำหรับคนที่มีเงินฝากต่ำกว่านั้น เพื่อให้ได้เงินมาเพิ่มอีก 5.8 พันล้านยูโร และนำมาช่วยลดภาระหนี้ของทางรัฐบาลอีกทางหนึ่ง
การกระทำเช่นนี้เปรียบเสมือนการ “ปล้นเงินฝาก” จากประชาชนทุกคน ซึ่งช่วงที่ผ่านมา ทางการก็ได้พยายามสร้างความเชื่อมั่นกับผู้ฝากทุกคนว่าเงินฝากจะได้รับการคุ้มครองและจะไม่มีความเสียหายเช่นเดียวกับกรณีของวิกฤติในประเทศอื่น ๆ ที่ผู้ฝากเงินได้รับการ ปกป้องอย่างดีอยู่เสมอ
ด้วยเหตุนี้ เมื่อประกาศออกมา ทุกคนจึงตะลึง โกรธ ไม่แน่ใจ และถามว่า ใครจะเป็นคนต่อไป และถามอีกว่า จะมีการทำมาตรการเช่นนี้กับประเทศอื่น ๆ เช่น สเปน อิตาลี หากเกิดปัญหาในอนาคตอีกหรือไม่

ทำไมจึงต้องเลือกทางออกเช่นนี้ และทางเลือกอื่น ๆ คืออะไร
ที่รัฐบาลต้องตัดสินใจเช่นนี้ ก็เพราะว่า แบงก์ในไซปรัสใหญ่มาก ใหญ่ประมาณ 8 เท่าของขนาดเศรษฐกิจ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ไซปรัสได้ทำตัวเป็นแหล่งฝากเงินภาษีต่ำของทุกคนในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เศรษฐีรัสเซีย เศรษฐีกรีซ (ส่วนหนึ่งเพื่อเลี่ยงภาษี ส่วนหนึ่งว่ากันว่า เพื่อฟอกเงิน) ตลอดจนคนยุโรปอื่น ๆ และแบงก์ก็ได้เอาเงินฝากที่ได้มาไปลงทุนในที่ต่าง ๆ (เนื่องจากไซปรัสเองก็ไม่ได้มีความต้องการเงินมากขนาดนั้น)
ปัญหาเริ่มมาจาก 2 ส่วน ส่วนแรกมาจากความสัมพันธ์ระหว่างไซปรัสกับกรีซ ซึ่งคนไซปรัสกว่า 80% มีพื้นเพมาจากคนกรีซ ทำให้มีความสัมพันธ์ทางการค้าอย่างใกล้ชิด ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจกรีซมีปัญหา เข้าสู่ภาวะถดถอยต่อเนื่อง ไปต่อไม่ได้ มีคนตกงานจำนวนมาก การส่งออกของไซปรัสไปยังกรีซก็ได้รับผลกระทบ อีกส่วนมาจากการที่แบงก์ในไซปรัสได้ไปปล่อยสินเชื่อและลงทุนไว้ในพันธบัตรของกรีซ ซึ่งเมื่อปีที่แล้วต้องมีการลดหนี้ไป 70% ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายไปจำนวนมากเช่นกัน
เมื่อเป็นเช่นนี้ ไซปรัสจึงประสบปัญหา 2 ด้าน คือ เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้งเป็นเวลากว่าปีครึ่ง ทำให้รัฐบาลเองก็ขาดดุลต่อเนื่องประมาณร้อยละ 6% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้สัดส่วนคนตกงานเพิ่มจาก 6.8% เป็น 14.7% และหนี้ภาครัฐเพิ่มขึ้นจาก 50% เป็น 70% ซึ่งเมื่อภาคสถาบันการเงินมีปัญหาเช่นนี้ รัฐบาลจึงไม่มีทางออก
การกู้ยืมเงินจำนวน 1 หมื่นล้านยูโรรอบนี้ จะทำให้หนี้ภาครัฐของไซปรัสเพิ่มขึ้นเป็น 93% ของ GDP ซึ่งนับว่าสูงมากอยู่แล้ว และยากที่จะดูแลให้ผ่านไปได้ ถ้าจะกู้ยืมเงินเพิ่มอีก 5.8 พันล้านยูโร เพื่อจะไม่ต้องไปเก็บจากผู้ฝากเงิน ก็จะยิ่งทำให้หนี้ภาครัฐเพิ่มขึ้นไปสูงกว่า 100% ซึ่งยิ่งจะทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก
ทั้งหมดจึงนำมาถึงการที่กลุ่มเจ้าหนี้ จึงบังคับให้ไซปรัสไปหาทางออกอื่น คือ การไปเก็บภาษีจากผู้ฝากเงิน ที่เกินครึ่งเป็นผู้ฝากจากต่างประเทศ (ที่อาจจะเอาเข้ามาเพื่อฟอกเงิน) เพื่อผ่อนภาระของภาครัฐลงไปบางส่วน
ที่พลาดก็คือ การตัดสินใจที่จะไปเรียกเก็บในอัตรา 6.75% จากผู้ฝากรายย่อยที่มีเงินฝากต่ำกว่า 1 แสนยูโร ซึ่งปกติแล้วได้รับการปกป้องจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากของไซปรัส เพื่อที่ว่าจะไปเก็บจากผู้ฝากเงินรายใหญ่ให้อยู่ต่ำกว่า 10% ให้ได้ (ซึ่งผู้ฝากเงินรายใหญ่เหล่านี้ อาศัยไซปรัสเป็นแหล่งพักเงิน ถ้าเก็บมากๆ อาจจะมีปัญหาตามมาในอนาคต) และปัญหานี้กำลังลุกลามกลายเป็นปัญหาทางการเมือง
ด้วยเหตุนี้ ไซปรัสจึงกลายเป็นจุดที่หลายคนกำลังจับตามองว่า จะจบลงในรูปแบบไหน รัฐบาลจะเก็บรายใหญ่เพิ่มอีกเท่าไร ต้องขอความช่วยเหลือจากยุโรปเพิ่มขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะไปทางไหน ทั้งหมดที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า วิกฤติในยุโรปยังไม่จบลง และยังมีปัญหาคุกรุ่นอยู่เสมอ ที่เรายังประมาทไม่ได้ ก็ขอเอาใจช่วยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น